Breadcrumb

  1. Home
  2. ข้อมูลภาษาไทย
  3. โรคซึมเศร้า PTSD และภาวะทางสุขภาพจิตอื่น ๆ ในสถานที่ทำงาน : สิทธิตามกฎหมายของท่าน

โรคซึมเศร้า PTSD และภาวะทางสุขภาพจิตอื่น ๆ ในสถานที่ทำงาน : สิทธิตามกฎหมายของท่าน

หากท่านมีภาวะซึมเศร้า ภาวะเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD) หรือภาวะทางสุขภาพจิตอื่น ๆ ท่านจะได้รับการคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติ และการล่วงละเมิดในที่ทำงานเนื่องจากภาวะของท่าน ท่านมีสิทธิความเป็นส่วนตัวในสถานที่ทำงาน และท่านอาจมีสิทธิตามกฎหมายในการได้รับการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลในการทำงานที่อาจจะช่วยให้ท่านปฏิบัติหน้าที่และรักษาตำแหน่งงานของท่านไว้ได้ คำถามและคำตอบต่อไปนี้ช่วยอธิบายสั้น ๆ เกี่ยวกับสิทธิเหล่านี้ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายคนพิการอเมริกัน (ADA) ท่านอาจมีสิทธิเพิ่มเติมภายใต้กฎหมายอื่น ๆ ที่ไม่ได้อธิบายไว้ในที่นี้ เช่น กฎหมายการลางานเพื่อการแพทย์และครอบครัว (FMLA) และกฎหมายประกันสุขภาพต่าง ๆ

1. นายจ้างของข้าพเจ้าสามารถไล่ข้าพเจ้าออกจากงาน เนื่องจากข้าพเจ้ามีภาวะทางสุขภาพจิตได้หรือไม่

ไม่ได้ เป็นเรื่องผิดกฎหมายหากนายจ้างเลือกปฏิบัติต่อท่าน เพียงเพราะท่านมีภาวะทางสุขภาพจิต ซึ่งรวมถึงการไล่ออกจากงาน ปฏิเสธไม่ให้ท่านทำงานหรือเลื่อนตำแหน่ง หรือบีบให้ท่านลาออก

นายจ้างไม่จำเป็นต้องจ้างงานหรือรักษาพนักงานไว้สำหรับงานที่พนักงานนั้นไม่สามารถทำได้ หรือจ้างงานผู้ที่เป็น “ภัยคุกคามโดยตรง” ต่อความปลอดภัย (ความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญต่ออันตรายอย่างมากต่อตนเองและผู้อื่น) แต่นายจ้างไม่สามารถเชื่อในเรื่องที่ไม่จริงหรือเหมารวมเกี่ยวกับภาวะทางสุขภาพจิตของท่านเมื่อทำการตัดสินว่าท่านสามารถปฏิบัติงานได้หรือไม่ หรือท่านเป็นความเสี่ยงต่อความปลอดภัยหรือไม่ ก่อนที่นายจ้างจะปฏิเสธไม่ให้ท่านทำงานเนื่องจากภาวะของท่าน จะต้องมีหลักฐานเชิงวัตถุวิสัยที่แสดงว่าท่านไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่การงานของท่านได้ หรือว่าท่านอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความปลอดภัยอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะมีการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลในการทำงานให้แล้วก็ตาม (ดูคำถามข้อ 3)

2. ข้าพเจ้าสามารถเก็บภาวะทางสุขภาพของข้าพเจ้าไว้เป็นเรื่องส่วนตัวได้หรือไม่

ในสถานการณ์ส่วนใหญ่ ท่านสามารถเก็บภาวะทางสุขภาพของท่านไว้เป็นเรื่องส่วนตัวได้ นายจ้างสามารถถามคำถามทางการแพทย์ (รวมถึงคำถามเกี่ยวกับสุขภาพจิต) ได้ในสี่สถานการณ์ต่อไปนี้เท่านั้น

  • เมื่อท่านขอการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลในการทำงาน (ดูคำถามข้อ 3)
  • หลังจากนายจ้างเสนองานให้แก่ท่าน แต่ก่อนที่จะเริ่มต้นการจ้างงาน ตราบเท่าที่นายจ้างถามคำถามเดียวกันกับทุกคนที่เข้าทำงานประเภทเดียวกัน
  • เมื่อนายจ้างมีนโยบายที่ผลักดันความเสมอภาคกับบุคคลทุพพลภาพ (เช่น เมื่อนายจ้างติดตามสถานะความพิการในกลุ่มผู้สมัครงานเพื่อประเมินความพยายามด้านการสรรหาและการจ้างพนักงาน หรือเมื่อนายจ้างภาคเอกชนพิจารณาว่าต้องนำกฎการจ้างงานพิเศษมาใช้หรือไม่) ซึ่งเป็นกรณีที่ท่านอาจเลือกได้ว่าจะตอบคำถามนั้นหรือไม่
  • ขณะทำงาน เมื่อมีหลักฐานเชิงวัตถุวิสัยที่ท่านอาจไม่สามารถทำงานของท่านได้ หรือท่านอาจเป็นความเสี่ยงต่อความปลอดภัยเนื่องจากภาวะของท่าน

ท่านอาจต้องแจ้งภาวะของท่านเพื่อสิทธิในการได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้กฎหมายอื่น ๆ เช่น กฎหมายการลางานเพื่อการแพทย์และครอบครัว (FMLA) หากท่านแจ้งภาวะของท่าน นายจ้างจะไม่สามารถเลือกปฏิบัติต่อท่าน (ดูคำถามข้อ 5) และนายจ้างต้องเก็บข้อมูลนี้เป็นความลับจากเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ (หากท่านต้องการเล่าภาวะของท่านให้เพื่อนร่วมงานทราบ ท่านสามารถเลือกที่จะทำได้)

3. จะทำอย่างไรหากภาวะทางสุขภาพจิตของข้าพเจ้าอาจส่งผลต่อการทำงาน

ท่านอาจมีสิทธิตามกฏหมายในการได้รับการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลในการทำงานที่อาจช่วยในการทำงานของท่าน การอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลในการทำงานคือการเปลี่ยนลักษณะบางอย่างของสิ่งต่าง ๆ ที่ทำเป็นปกติในที่ทำงาน ตัวอย่างของการอำนวยความสะดวกที่อาจเป็นได้ อาทิ การปรับเปลี่ยนเวลาพักและตารางการทำงาน (เช่น จัดตารางการทำงานให้สอดคล้องกับเวลานัดพบแพทย์พื้นที่ทำงานที่เงียบสงบหรืออุปกรณ์ที่สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เงียบสงบ การเปลี่ยนวิธีการควบคุมงาน (เช่น ออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรจากหัวหน้างานที่โดยปกติไม่ได้จัดทำการมอบหมายการทำงานเป็นตารางเวลาที่เฉพาะเจาะจง และการอนุญาตให้ทำงานจากที่บ้าน

ท่านสามารถได้รับการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลในการทำงานสำหรับภาวะทางสุขภาพจิตใด ๆ ที่หากไม่ได้ทำการรักษาอาจเป็น “ข้อจำกัดที่สำคัญ” ต่อความสามารถของท่านในการมีสมาธิ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การสื่อสาร การรับประทานอาหาร การนอนหลับ การดูแลตนเอง การควบคุมความคิดหรืออารมณ์ของท่าน หรือการทำ “กิจกรรมหลักในชีวิต” อื่น ๆ (ท่านไม่จำเป็นต้องหยุดการรักษาเพื่อได้รับการอำนวยความสะดวก)

ภาวะของท่านไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเป็นการถาวรหรือรุนแรงในการเป็น “ข้อจำกัดที่สำคัญ” ตัวอย่างของคุณสมบัติดังกล่าวอาจเป็นการทำให้การทำกิจกรรมต่าง ๆ ยากขึ้น ไม่สะดวก หรือใช้เวลานานในการทำเมื่อเทียบกับลักษณะที่คนส่วนใหญ่ทำกิจกรรมนั้น หากอาการของท่านไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา เป็นภาวะที่เป็นๆหายๆ ไม่สม่ำเสมอ สิ่งสำคัญคือท่านจะมีข้อจำกัดมากน้อยเพียงใดขณะที่อาการของท่านปรากฏ ภาวะทางสุขภาพจิตต่าง ๆ เช่น โรคซึมเศร้ารุนแรง ภาวะเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD) โรคไบโพลาร์ โรคจิตเวช และโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) น่าจะเข้าข่ายคุณสมบัติได้อย่างง่ายดาย รวมทั้งภาวะอื่น ๆ อีกมากมายเช่นกัน

4. ข้าพเจ้าจะได้รับการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลในการทำงานได้อย่างไร

ขอการอำนวยความสะดวก แจ้งหัวหน้างาน ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือบุคคลที่เหมาะสมอื่น ๆ ว่าท่านต้องการการเปลี่ยนแปลงในที่ทำงานเนื่องจากภาวะทางการแพทย์ ท่านอาจขอการอำนวยความสะดวกได้ตลอดเวลา เนื่องจากนายจ้างไม่ต้องให้การยกเว้นต่อประสิทธิภาพการทำงานที่ไม่ดีแม้จะมีสาเหตุมาจากภาวะทางการแพทย์หรือผลข้างเคียงของยา ดังนั้น โดยทั่วไปจึงเป็นสิ่งที่ดีกว่าในการขอการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลในการทำงานก่อนเกิดปัญหาใด ๆ หรือปัญหานั้นย่ำแย่ลง (อย่างไรก็ตาม หลายคนเลือกที่จะรอในการขอการอำนวยความสะดวกจนกระทั่งหลังตนได้รับข้อเสนอเพื่อจ้างงาน เนื่องจากการเลือกปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่เกิดขึ้นก่อนข้อเสนอเพื่อจ้างงานนั้น เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ยากมาก) ท่านไม่จำเป็นต้องมีแผนการอำนวยความสะดวกโดยเฉพาะไว้อยู่แล้วในใจ แต่ท่านสามารถขอบางสิ่งที่เฉพาะเจาะจงได้

5. หลังจากที่ข้าพเจ้าขอการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลในการทำงาน แล้วจะเกิดอะไรขึ้น

นายจ้างของท่านอาจขอให้ท่านส่งคำขอเป็นลายลักษณ์อักษร โดยอธิบายถึงภาวะของท่านโดยทั่วไป และอธิบายว่าภาวะนั้นส่งผลต่อการทำงานของท่านอย่างไร นอกจากนี้ นายจ้างยังอาจขอให้ท่านยื่นจดหมายจากผู้ให้การดูแลทางสุขภาพของท่านที่บันทึกว่าท่านมีภาวะทางสุขภาพจิต และระบุว่าท่านต้องการการอำนวยความสะดวกเนื่องจากภาวะดังกล่าว หากท่านไม่ต้องการให้นายจ้างทราบถึงการวินิจฉัยที่เฉพาะเจาะจง การยื่นเอกสารที่อธิบายถึงภาวะของท่านโดยทั่วไป (เช่น โดยการระบุว่าท่านมี “ภาวะวิตกกังวล”) ก็อาจเพียงพอ นอกจากนี้ นายจ้างของท่านยังอาจถามผู้ให้การดูแลทางสุขภาพของท่านว่า การอำนวยความสะดวกเฉพาะบางอย่างอาจตอบสนองความต้องการของท่านได้หรือไม่ ท่านสามารถช่วยให้ผู้ให้การดูแลทางสุขภาพของท่านเข้าใจกฎหมายเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลในการทำงานได้โดยการนำสำเนาสิ่งพิมพ์ของ EEOC เรื่อง บทบาทของผู้ให้การดูแลด้านสุขภาพจิตต่อคำขอของผู้รับบริการเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลในการทำงาน ไปในการนัดพบแพทย์ด้วย

หากการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลในการทำงานอาจช่วยในการทำงานของท่านได้ นายจ้างของท่านต้องให้การอำนวยความสะดวกแก่ท่าน เว้นเสียแต่ว่าการอำนวยความสะดวกดังกล่าวสร้างความยากลำบากอย่างยิ่งหรือมีค่าใช้จ่ายสูงอย่างมีนัยสำคัญ หากสามารถจัดหาการอำนวยความสะดวกมากกว่าหนึ่งประเภท นายจ้างสามารถเลือกได้ว่าจะจัดหาการอำนวยความสะดวกประเภทใดให้แก่ท่าน โดยชอบด้วยกฎหมาย นายจ้างของท่านไม่สามารถให้ท่านออกจากงาน หรือปฏิเสธการจ้างงาน หรือการเลื่อนขั้นให้แก่ท่าน เนื่องจากท่านขอการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลในการทำงาน หรือเนื่องจากท่านต้องการการอำนวยความสะดวก นอกจากนี้ นายจ้างยังไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากท่านสำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดหาการอำนวยความสะดวกอีกด้วย

6. หากข้าพเจ้าไม่สามารถทำงานตามปกติของข้าพเจ้าได้ แม้จะมีการอำนวยความสะดวก แล้วข้าพเจ้าจะทำอย่างไร

หากท่านไม่สามารถทำหน้าที่สำคัญทั้งหมดในงานของท่านตามมาตรฐานปกติ และไม่มีวันลาหยุดแบบที่ยังได้รับเงินค่าจ้างเหลืออยู่ ท่านอาจยังมีสิทธิในการลาหยุดแบบที่ไม่ได้รับเงินค่าจ้าง ในฐานะที่เป็นการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลในการทำงาน หากการลาหยุดนั้นจะช่วยให้ท่านไปสู่จุดที่ท่านสามารถทำหน้าที่เหล่านั้นได้ นอกจากนี้ ท่านยังอาจลาหยุดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายการลางานเพื่อการแพทย์และครอบครัว ซึ่งมีผลบังคับใช้โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ท่านสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายนี้ได้ที่ www.dol.gov/whd/fmla

หากท่านไม่สามารถทำงานปกติของท่านได้อย่างถาวร ท่านอาจขอให้นายจ้างมอบหมายงานใหม่ (หากมี) ที่ท่านสามารถทำได้ในฐานะที่เป็นการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลในการทำงาน ท่านสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลในการทำงาน รวมถึงการมอบหมายงานใหม่ได้ ที่นี่

7. หากข้าพเจ้าถูกล่วงละเมิดเนื่องจากภาวะของข้าพเจ้า จะต้องทำอย่างไร

การล่วงละเมิดที่มีพื้นฐานมาจากความพิการเป็นการกระทำที่ไม่สามารถทำได้ภายใต้กฎหมายคนพิการอเมริกัน (ADA) ท่านควรแจ้งนายจ้างของท่านเกี่ยวกับการล่วงละเมิดหากท่านต้องการให้นายจ้างยุติปัญหา ท่านควรปฏิบัติตามขั้นตอนการรายงานของนายจ้างของท่าน (หากมี) หากท่านรายงานการล่วงละเมิด ตามกฎหมายแล้วนายจ้างของท่านต้องดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์นั้นอีกในอนาคต

8. หากข้าพเจ้าคิดว่ามีการละเมิดสิทธิของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าควรทำอย่างไร

คณะกรรมการเพื่อความเสมอภาคในการทำงาน (EEOC) สามารถช่วยท่านตัดสินใจว่าควรทำอย่างไรต่อไป และดำเนินการสืบสวนหากท่านตัดสินใจยื่นคำร้องเรื่องการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากท่านต้องยื่นคำร้องภายในเวลา 180 วันนับจากวันที่เกิดการละเมิดสิทธิที่กล่าวหาเพื่อการดำเนินการตามกฏหมายต่อไป (หรือ 300 วันหากนายจ้างอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานในระดับรัฐหรือท้องถิ่น) การเริ่มขั้นตอนแต่เนิ่น ๆ จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด จะเป็นสิ่งผิดกฎหมายหากนายจ้างของท่านตอบโต้ท่านจากการติดต่อ EEOC หรือการยื่นคำร้อง หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดูที่ http://www.eeoc.gov โทรศัพท์ไปที่หมายเลข 800-669-4000 (แบบใช้เสียง) หรือ 800-669-6820 (TTY) หรือไปที่สำนักงาน EEOC ในพื้นที่ของท่าน (ดู https://www.eeoc.gov/field สำหรับข้อมูลติดต่อ)